“พีระ ปัทมวรกุลชัย” PIN จรัสแสงที่ EEC

1 / 1

PINTHONG Group หรือ “เครือปิ่นทอง” เริ่มต้นในปี 2483 โดย “เซ็ง แซ่ปึง” (บิดาของ พีระ ปัทมวรกุลชัย) และเพื่อนๆ ได้ก่อตั้ง “ห้างเลี่ยงฮวด” ย่านมหาพฤฒาราม ทำธุรกิจนำเข้าโลหะมาจำหน่ายภายในประเทศต่อมาผู้นำครอบครัวถึงแก่กรรม “เล้า แซ่ลี้” ภริยาจึงเข้ามาสานต่อกิจการในปี 2507 และนำเข้าโลหะเพื่อจำหน่ายแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีก 6 ปีต่อมาได้ก่อตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปิ่นทองอิมปอร์ต” เพื่อนำเข้าแผ่นเหล็กทุกชนิด รวมทั้งสั่งซื้อเครื่องจักรแปรรูปโลหะเข้ามาประกอบการเป็นบางส่วน เมื่อกิจการมีความก้าวหน้ามากขึ้นจึงตั้ง บจ. จุฑาวรรณ ในปี 2521 และบริษัทอื่นๆ ตามมา ปัจจุบันปิ่นทองกรุ๊ป มีธุรกิจ 5 กลุ่ม ประกอบด้วยธุรกิจเหล็กและโลหะ ธุรกิจอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และคลังสินค้า กลุ่มธุรกิจรถขนส่งและรถยนต์เช่า และอื่นๆ รวมทั้งหมดมี 26 บริษัท พนักงานกว่า 2,000 คน ปี 2563 รายได้รวมทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านบาท แม้รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจเหล็กและโลหะ แต่โอกาสทางธุรกิจและการเป็นที่รู้จักมาจากการทำนิคมอุตสาหกรรมในนาม บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ PIN ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2559 และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปลายปี 2564 บริษัทมีความเชี่ยวชาญดำเนินธุรกิจมานานกว่า 25 ปี จากการเริ่มต้นพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจำนวน 200 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วกว่า 7,500 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยดำเนินการออกแบบผังโครงการพื้นที่อุตสาหกรรมพื้นที่พาณิชยกรรมและพื้นที่สีเขียว และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้แก่ ถนน ระบบระบายน้ำ ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสียระบบโทรคมนาคม ตามมาตรฐานของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) โดยภายในโครงการจะมีสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของ กนอ. เพื่อให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแบบ one-stop service เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้าง การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ รายได้จากการประกอบธุรกิจแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย หนึ่งธุรกิจขายที่ดินพัฒนาแล้วในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท สองให้เช่าที่ดินพร้อมอาคารโรงงาน และให้เช่าที่ดินเปล่า และ สามห้บริการพื้นที่ส่วนกลางและระบบสาธารณูปโภค โดยรายได้หลักมาจากการพัฒนาและขายที่ดิน จุดเด่นของ PIN คือ อยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และอยู่บนถนนหลักที่เชื่อมต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา ปี 2564 เปิดดำเนินการแล้ว 6 แห่ง ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองโครงการ 1-6 (PIN 1-6) ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปี 2564 มีลูกค้าในนิคมฯ รวม 282 ราย เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ 89% ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ อีก 11% เป็นผู้ประกอบการไทย ปี 2561-2563 มีรายได้ 888.88 ล้านบาท, 789.28 ล้านบาท และ 1,062.85 ล้านบาท กำไรสุทธิ 216.43 ล้านบาท, 223.70 ล้านบาท และ 403.89 ล้านบาท ตามลำดับ เริ่มจากธุรกิจเหล็ก ไม่บ่อยครั้งนักที่ พีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ผู้ก่อตั้งปิ่นทองกรุ๊ปในวัย 75 ปี เล่าถึงความเป็นมาว่า เริ่มจากการทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเหล็กและโลหะ กระทั่งกิจการเติบโตขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมาจากความต้องการใช้คลังสินค้า เมื่อมีคนทักว่า ทำไมไม่ทำขายด้วยจึงเป็นที่มาของ PIN 1 ในปี 2540 “อายุ 19 ปี พ่อเสียชีวิต เรียนจบมัธยมปลายก็มาช่วยแม่ทำงานตอนอายุ 21 ปี มีพี่สาว 4 คน แต่เป็นลูกชายคนโต ก็มาช่วยและค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไข ถึงโอกาสหนึ่งทดลองสั่งสินค้ามาเอง เริ่มทำจากเล็กไปหามาก…เราค้าขายเหล็กเฉยๆ (มีคนบอก) ทำไมไม่ทำชิ้นส่วนล่ะ บอกว่าทำไม่เป็น เขาบอกว่าเดี๋ยวมีคนแนะนำให้ เป็นเรื่องที่คนไม่อยากจะเชื่อ มีครั้งหนึ่ง Hitachi อยากจะทำหม้อหุงข้าวในไทย เขาอุตส่าห์มาหา เอาช่างมาสอนให้เราทำชิ้นส่วนผลิตเพื่อขายให้เขา คือเอาธุรกิจมายัดใส่มือเราว่างั้นเถอะ ขอให้ถูกใจ ถูกคอกัน อะไรก็ได้เขาสอนให้เราทำเป็นและผลิตป้อนให้เขา” ธุรกิจอื่นๆ ที่ขยับขยายในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่มาจากความต้องการของคู่ค้าหรือลูกค้า เช่น ธุรกิจสแตนเลส ก็เป็นคู่ค้าชาวเกาหลีส่งต่อให้ รวมทั้งลูกค้าด้วย บททดสอบครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2540 เมื่อประเทศไทยมีวิกฤตต้มยำกุ้ง เครือปิ่นทองได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจเติบโตพีระจึงกู้เงินธนาคารจำนวนหลายพันล้านเพื่อลงทุน ซึ่งเขาบอกว่า เป็น “วิธีคิดที่ผิด” “ช่วงที่ค่าเงินบาทลดลงแรงๆ เครดิตเราดีมาก แต่ละแบงก์วิ่งมาหาบอกช่วยกู้หน่อยเถอะ ดอกเบี้ยตลาด 5-6% แบงก์ให้เรา 2% เราหลวมตัวเกินไป ก็กู้มาลงทุน พอเกิดวิกฤตลืมคิดว่ายืดหยุ่นได้ไหม ซึ่งทำไม่ได้ เพราะยังอยู่ในช่วงกำลังเริ่มต้น วิกฤตครั้งหนึ่งไม่ใช่มีปัญหาแค่การค้า ขายของไม่ได้ แต่สต็อกเต็ม ต้องจ่ายหนี้ เครดิตเสีย แบงก์ตามหาคุณ ลูกน้องมีปัญหาอีก…หากกู้เงินเพื่อดำเนินธุรกิจยังพอไปได้ แต่การกู้เพื่อลงทุนถือว่าผิด ถือว่าเป็นบทเรียนชั้นดี” นายใหญ่ปิ่นทองกรุ๊ปเล่าพร้อมกลั้วหัวเราะน้อยๆ และกล่าวถึงการแก้ปัญหาในครั้งนั้นว่า “เราเจรจากับแบงก์ ค่อยๆ ผ่อนชำระดอกเบี้ยก่อน สิ่งที่ทำคือ พยายามเจรจากับทุกฝ่าย ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า ก็คุยกัน โชคดีได้ผู้ร่วมทุนชาวญี่ปุ่นที่น่ารัก เขาเข้าใจพยายามยืดหนี้และอื่นๆ ประคับประคองให้พอยืนอยู่ได้ ช่วงที่ทำนิคมฯ ขายลำบาก 3 ปีแรก เราสร้างคลังสินค้า โรงงานให้เช่า ตอบรับรายย่อยๆ ทยอยเข้ามา ทำให้มีประสบการณ์การให้เช่าโรงงาน คลังสินค้า หุ้นส่วนญี่ปุ่นคือคนที่ทำธุรกิจเหล็กหลังจากนั้น (มีธุรกิจ) เหล็กแปรรูป ชิ้นส่วนและนิคมอุตสาหกรรม” จากธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายโลหะ มาวันนี้รายได้ของบริษัททั้งเครือมูลค่ากว่าหมื่นกว่าล้าน นับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย แต่ผู้ก่อตั้งปิ่นทองกรุ๊ปกลับไม่คิดเช่นนั้น “ถ้าย้อนหลังกลับไปได้ เราได้ตั้งต้นใหม่ ไม่ใช่แค่นี้ น่าจะมากกว่านี้ แต่ตอนนั้นอ่านไม่เป็น ไม่เข้าใจ และโอกาสที่ควรจะไปเราไม่ได้ไป” ขวัญใจผู้ประกอบการญี่ปุ่น นอกจากเรื่องหนี้สิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PIN บอกว่า “โจทย์ยาก” ของการทำนิคมอุตสาหกรรมคือ การหาลูกค้า โดยช่วงที่ทำโครงการ PIN 1 มีปัญหาช่วง 3 ปีแรก เขาหาทางแก้ไขโดยติดต่อเพื่อนชาวญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารธุรกิจที่บริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นและเกษียณ หรือหมดวาระในไทย แต่ยังไม่อยากกลับ ขอให้มาช่วยบริหารโครงการด้วยความเชื่อมั่นว่า คนญี่ปุ่นจะเข้าใจคนชาติเดียวกัน ซึ่งผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจ ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่มาจากแดนอาทิตย์อุทัย “เราเริ่มต้นจากคลังสินค้า เมื่อเข้าไปทำเป้าหมายหลักคือ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือทะเลแห่งแรกของไทย โลกที่เจริญส่วนใหญ่ติดทะเลทั้งนั้น…พอสะดุดกับค่าเงินบาทก็ล้มลุกคลุกคลานระยะหนึ่ง 2-3 ปี และขวนขวายให้ญี่ปุ่นที่เป็นเพื่อนช่วยบริหาร จากนั้นขยายเติบโต ก็ขายที่ดินและสร้างโรงงานให้เช่า ขนาดพื้นที่พันกว่าตารางเมตรถึงหมื่นกว่าตารางเมตร” คู่แข่งขณะนั้น คือนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี ซึ่งทำเลอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบังเช่นกัน ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี ชูสนามบินสุวรรณภูมิเป็นจุดขาย “ราคาขายเรายึดเกณฑ์ท่าเรือแหลมฉบังคำว่า เกณฑ์ หมายความว่า การทำอะไรทุกอย่างต้องหาจุดเด่นให้เจอว่า เราคือใครอยู่ตรงนี้ได้ไหม ถ้าเหมือนเขาเราก็เหนื่อย เราคือใครหมายความว่า เราทำอุตสาหกรรมต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมต้องการอะไรและทำในสิ่งที่เขาชอบ เราคบญี่ปุ่นก็ซึมซับวัฒนธรรมเขา เช่น นิสัยคนญี่ปุ่นเวลาดูแลลูกค้าจะทำให้เกินร้อย เราซึมซับแนวคิดนี้และทำให้กับลูกค้า ถ้าทำไม่ได้ก็บอกตรงๆ ว่าสุดวิสัย ด้วยวิธีการนี้ทำให้ยอมรับได้ง่าย” จาก PIN 1 ในปี 2540 และขยายกระทั่งถึง PIN 6 ในปัจจุบันโครงการทั้งหมดตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีทำเลใกล้กับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ยกเว้น PIN 6 ตั้งอยู่ที่อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ห่างจากท่าเรือมาบตาพุดกว่า 20 กิโลเมตร เป็นโครงการที่ซื้อต่อจากเจ้าของเดิม และใช้เวลาพัฒนาต่ออีก 1 ปี แม้จะมีบริษัทถึง 26 แห่งใน 5 กลุ่มธุรกิจรายได้แตะหลักหมื่นล้านบาทต่อปี แต่พีระบอกว่า กิจการของเขาไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับรายอื่นๆ และโดยส่วนตัวไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องเป็นกิจการที่ใหญ่โตหรือแข่งขันกับใคร แต่เน้นแข่งกับตนเอง ซึ่งเขาเรียกว่า “ทฤษฎีรบกับตัวเอง” คือดูว่าปีนี้ทำอะไรและปีหน้าจะดีกว่านั้นไหม ค่อยๆ ขยับไปทีละขั้น “จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเราคือ พยายามใกล้ชิดกับงานให้มากที่สุด ทำให้เรียนรู้ได้ว่าอะไรกำลังจะมา อะไรกำลังจะไปๆ ก็หลีกเลี่ยง อะไรกำลังจะมาก็ศึกษาให้ลึกลงไปว่าสิ่งนั้นต้องการอะไรและเตรียมตัวไว้” พีระกล่าวในตอนท้าย ที่มา: https://forbesthailand.com/people/self-made-billionaires/%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-pin-%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B9%81.html